หมอประจำบ้าน: บิดอะมีบา (Amebiasis) อะมีบา เป็นโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว) ชนิดหนึ่ง สามารถเข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้ กลายเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) เรียกว่า บิดอะมีบา หรือเข้าไปในตับทำให้เกิดฝีในตับ เรียกว่า ฝีตับอะมีบา
บิดอะมีบา (บิดมีตัว) พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในคนอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป
บิดชนิดนี้พบได้น้อยกว่าบิดชิเกลลา มักพบในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี หรือในกลุ่มคนที่ยังขาดสุขนิสัยที่ดี
การติดเชื้อมักเกิดได้บ่อยในสถานพักฟื้นของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยทางจิตเวช และในกลุ่มชายรักร่วมเพศ
ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนน้อยจะกลายเป็นโรคบิดอะมีบา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด ขาดอาหาร ป่วยเป็นมะเร็ง ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดอาจเกิดอาการรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้ออะมีบา (ameba) ที่มีชื่อว่า เอนตามีบาฮิสโตไลติคา (Entamoeba histolytica) ซึ่งอยู่ตามดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งอาจปนเปื้อนอยู่ในสระว่ายน้ำและน้ำประปา ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ที่เป็นพาหะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จัดเตรียมหรือทำอาหารให้ผู้อื่น) หรือปนเปื้อนดินหรือน้ำที่มีเชื้อ นอกจากนี้ยังติดต่อโดยการดื่มน้ำแบบดิบ ๆ และการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่มีการใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาตที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระในบริเวณทวารหนัก (ซึ่งพบในกลุ่มชายร่วมเพศ)
ระยะฟักตัว 1 สัปดาห์ถึง 3 เดือน (ส่วนใหญ่ 8-10 วัน)
อาการ
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน อาจแสดงอาการได้ 3 ลักษณะตามความรุนแรงของโรคดังนี้
ในรายที่มีการติดเชื้อเล็กน้อยถึงปานกลาง จะมีอาการปวดบิดในท้อง มีลมในท้องมาก ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเหลววันละ 3-5 ครั้ง อาจมีมูกปนเล็กน้อย (โดยไม่มีเลือดปน) หรือไม่ก็ได้ ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้ หรือมีไข้ต่ำ
ในรายที่มีการติดเชื้อมาก จะมีอาการของลำไส้ใหญ่อักเสบหรือโรคบิดชัดเจน คือ ปวดท้อง ปวดเบ่งที่ก้นคล้ายถ่ายไม่สุด และถ่ายเป็นมูกเลือดทีละน้อย ซึ่งมีเนื้ออุจจาระปนน้อยมาก มักมีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ผู้ป่วยจะถ่ายกะปริดกะปรอยวันละ 10-20 ครั้ง หรือมากกว่า ระยะนี้ผู้ป่วยเดินเหินไปไหนมาไหนและทำงานได้
อาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นมูกเลือดดังกล่าว มักจะเป็นอยู่นานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ แล้วอาจทุเลาไปได้เองสักระยะหนึ่ง หากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย ๆ
ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก จะมีอาการคล้ายบิดชิเกลลา คือ มีไข้สูง ปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียมาก ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากวันละ 10-20 ครั้ง มักมีเลือดปน และมักมีภาวะขาดน้ำซึ่งอาจรุนแรงถึงช็อกได้
ในรายที่เป็นเรื้อรัง จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อ่อนเพลีย ถ่ายอุจจาระเหลว (อาจมีมูกปน) วันละ 3-5 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกเลือดกะปริดกะปรอย เป็นๆ หายๆ เรื้อรังนานเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักมีอาการน้ำหนักลดร่วมด้วย และในช่วงที่ไม่มีอาการท้องเดินอาจมีอาการท้องผูกสลับด้วย อาการแสดงบางครั้งอาจแยกไม่ออกจากมะเร็งลำไส้ใหญ่
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจกลายเป็นโรคบิดเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย ซีด น้ำหนักลด ซูบผอม อาจเกิดก้อนอะมีโบมา (เกิดจากการติดเชื้ออะมีบาเรื้อรังร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการของลำไส้อุดกั้น จากภาวะลำไส้กลืนกันเอง (intussusception)
บางรายอาจเกิดแผลขนาดใหญ่ที่กระพุ้งลำไส้ใหญ่ (cecum) ตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ทำให้มีไข้สูง ท้องอืดมาก ท้องเดิน กดเจ็บ คล้ายไส้ติ่งอักเสบ (ส่วนไส้ติ่งอักเสบจากเชื้ออะมีบาก็อาจพบได้แต่ค่อนข้างน้อย)
ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเร็วร้าย (fulminant colitis) ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะขาดอาหาร หรือใช้ยาสเตียรอยด์ ทำให้มีการหลุดลอกของเยื่อบุลำไส้ใหญ่ปริมาณมาก และตกเลือดรุนแรงเป็นอันตรายถึงตายได้
ภาวะร้ายแรงอื่น ๆ เช่น ลำไส้ใหญ่ทะลุทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบตามมา ภาวะลำไส้ใหญ่พอง (toxic megacolon) ทำให้ผนังลำไส้แตกได้
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะลำไส้ใหญ่ตีบ (ถ่ายอุจจาระลำบาก) หรือแผลที่ผิวหนังตรงบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก
เชื้ออาจแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ตับ ทำให้เป็นฝีตับอะมีบา ส่วนน้อยอาจแพร่ไปที่ปอดและสมอง ทำให้เกิดการอักเสบหรือเป็นฝี
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย โดยมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในรายที่เป็นไม่มากอาจตรวจไม่พบอะไรชัดเจน บางรายอาจพบอาการท้องอืด ใช้เครื่องฟังตรวจที่หน้าท้องจะได้ยินเสียงโครกครากของลำไส้มากกว่าปกติ อาจมีอาการกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณท้องส่วนล่าง หรือคลำได้ตับโตเล็กน้อย
ในรายที่เป็นมากมักมีไข้สูง มีภาวะขาดน้ำ กดเจ็บทั่วบริเวณท้อง อาจพบตับโตและกดเจ็บ ความดันต่ำ
ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อยข้างขวา เรียกว่า อะมีโบมา (ameboma) ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งได้
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจหาเชื้อในอุจจาระ บางรายอาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (sigmoidocopy‚ colonoscopy) การทดสอบทางน้ำเหลืองด้วยวิธี ELISA เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ ให้อาหารบำรุงร่างกาย) และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เมโทรไนดาโซล หรือทินิดาโซล
2. ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หน้าท้องกดเจ็บมากหรือเกร็งแข็ง ตับโตและกดเจ็บมาก ถ่ายเป็นเลือดรุนแรง ปวดศีรษะรุนแรง หายใจหอบหรือชัก แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
3. ถ้ามีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง คลำได้ก้อนในท้อง หรือน้ำหนักลดฮวบ แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ เช่น เอกซเรย์ การตรวจอัลตราซาวนด์ การใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (sigmoidocopy‚ colonoscopy) เป็นต้น และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ผลการรักษา ส่วนใหญ่หายเป็นปกติใน 1-3 สัปดาห์ ส่วนน้อยที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งหากรักษาได้ทันการณ์ก็จะหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจได้รับอันตรายถึงเสียชีวิตได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย มูกมีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นบิดอะมีบา ควรดูแลตนเอง ดังนี้
1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. กินยาปฏิชีวนะตามขนาดและครบระยะเวลาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
3. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
4. ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
ปวดศีรษะรุนแรง ชัก ปวดท้องรุนแรง หรืออาเจียน
หายใจหอบ ตาเหลืองตัวเหลือง หรือน้ำหนักลด
ท้องผูกหรือถ่ายอุจจาระลำบาก
คลำได้ก้อนในท้อง
ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
หลังกินยามีผื่นคัน ตุ่มพุพอง ปากบวม ตาบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ
กินยาที่แพทย์แนะนำ 4-5 วันแล้วไม่ดีขึ้น
มีความวิตกกังวล
การป้องกัน
ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันบิดชิเกลลา และท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย
ข้อแนะนำ
1. หลังการให้ยารักษา ถึงแม้ว่าอาการจะทุเลาเป็นปกติแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ควรทำการตรวจดูเชื้อในอุจจาระในเดือนที่ 1‚ 3 และ 6 หลังการรักษา ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อหลงเหลือซึ่งอาจทำให้โรคกำเริบใหม่ได้
2. ผู้ที่ติดเชื้ออะมีบาอาจมีอาการท้องเดิน (ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นมูกไม่มีเลือดปน) เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังได้ หากสงสัยควรส่งตรวจดูเชื้ออะมีบาในอุจจาระ
3. ในผู้ที่ติดเชื้ออะมีบาบางรายอาจไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด แต่สามารถแพร่เชื้อออกทางอุจจาระไปให้ผู้อื่น เรียกว่า พาหะ (carrier) ของโรคบิดอะมีบา หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น กินยาสเตียรอยด์ก็อาจกลายเป็นโรคตามมาได้